นักธุรกิจจับมือกัน

บริษัทฯ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงและความเพียงพอเหมาะสมของระบบควบคุมภายในที่ดีเพื่อสนับสนุนให้สามารถดำเนินธุรกิจได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้มีการดำเนินการธุรกิจภายใต้หลักบรรษัทภิบาลและโปร่งใส มีการกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการที่มีการถ่วงดุล การกำหนดนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติงานกลางที่สำคัญเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้บุคลากรนำไปปฏิบัติใช้ภายใต้มาตรฐานและระบบการควบคุมที่เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน รวมถึงมีการจัดทำจรรยาบรรณธุรกิจ การกำหนดบทลงโทษทางวินัย และการกำหนดช่องทางและกระบวนการรับข้อร้องเรียนที่เหมาะสม เป็นต้น

อีกทั้ง คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบริษัทฯดำเนินธุรกิจประกอบกิจการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรมโดยการเผาทำลาย ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยในชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงนำมาประยุกต์ใช้ในนโยบาย กลยุทธ์ เป้าหมายแนวปฏิบัติ และแผนงานการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบควบคุมภายในและกระบวนการบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บริษัทฯสามารถเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระยะยาวได้

การควบคุมภายใน คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบ เป็นผู้สอบทานความเหมาะสมและความมีประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายในของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการควบคุมภายในของบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) เพียงพอ เหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางมาตรฐานสากลของ COSO The Committee of Sponsoring Organizations of the Tread way Commission อีกทั้งเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นมาตรฐานและบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ในทุกระดับการปฏิบัติงาน

ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเป็นกรรมการอิสระทั้ง 3 ท่านเข้าร่วมประชุมด้วย คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในจากรายงานผลการประเมินระบบการควบคุมภายในของฝ่ายบริหารที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ของบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ตามแบบประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไว้ โดยผลการประเมินกำหนดไว้ว่าบริษัทฯมีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม และเพียงพอในการดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ กฎหมาย ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชีของบริษัทกรินทร์ ออดิท จำกัด ซึ่งเป็นผู้สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและผู้ตรวจสอบงบการเงินประจำปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562 มิได้แสดงความเห็นว่า บริษัทฯ มีข้อบกพร่องที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน ในรายงานการสอบบัญชีดังกล่าว ทั้งนี้ระบบการควบคุมภายในประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ดังนี้

  1. การควบคุมภายในองค์กร(Control Environment)
    • บริษัทฯ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดทำแผนงานและงบประมาณประจำปี เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของฝ่ายบริหารและพนักงาน จัดโครงสร้างองค์กร กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบแยกตามสายงานที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และการกำกับดูแลกิจการ และมีหน่วยงานตรวจสอบภายในเป็นหน่วยงานอิสระ รายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
    • นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เป็นแนวทางในการดำเนินงานของบริษัทฯ มีการกำหนดจรรยาบรรณธุรกิจ และนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งครอบคลุมถึงบทลงโทษ ช่องทางรับข้อร้องเรียน และการคุ้มครองต่อผู้แจ้งเบาะแส ให้ผู้บริหารและพนักงานยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ อีกทั้งมีการจัดอบรมให้พนักงานใหม่ และจัดทำแบบทดสอบเพื่อประเมินความเข้าใจและการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมธุรกิจและนโยบายต่อต้านการให้หรือรับสินบนและการคอร์รัปชั่น รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำให้ครอบคลุม พนักงานทุกระดับ
    • บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร มีกระบวนการเสริมสร้างความสามารถ คุณภาพชีวิตของบุคลากร ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาคุณภาพทางการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้บุคลากรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมเพียงพอต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ และมีการจัดทำแผนและกระบวนการสรรหาผู้สืบทอดตำแหน่งที่สำคัญ (Succession Plan) เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
  2. การประเมินความเสี่ยง
    • บริษัทฯ มีโครงสร้างของการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วย คณะกรรมการบริษัท คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร คณะทำงานบริหารความเสี่ยง เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบและกำหนดวัตถุประสงค์ของการบริหารความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยงภาพรวมของบริษัท โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน "ESG" (สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงโอกาสและผลกระทบ ตลอดจนกำหนดมาตรการที่ใช้บริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดรวมไปถึงการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
    • บริษัทมีการจัดทำนโยบายและกรอบแนวทางการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งจัดทำระเบียบการบริหารจัดการความเสี่ยง/โอกาสในด้านคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม ตามข้อกำหนดของ ISO version 2015 ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงอันตรายจากการดำเนินงาน ตามระบบอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อเป็นแนวทางการบริหารความเสี่ยงให้ผู้บริหาร พนักงาน ทุกระดับ สำหรับประเมินความเสี่ยงและกำหนดแผนงานการบริหารจัดการความเสี่ยงในกระบวนการปฏิบัติงาน ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  3. การควบคุมการปฏิบัติงาน
    • มีการกำหนดอำนาจดำเนินการและระดับวงเงินอนุมัติรายการประเภทต่างๆ ของผู้บริหารไว้เป็นลายลักษณ์อักษรใน “ตารางอำนาจดำเนินการ” (Table of Authority)
    • แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการอนุมัติรายการ การดำเนินการหรือการบันทึกบัญชี และการดูแลจัดเก็บทรัพย์สิน อย่างเหมาะสม
    • มีการควบคุมดูแลการใช้ทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในกระบวนการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม
    • บริษัท จัดทำระเบียบข้อกำหนดนโยบาย ข้อกำหนดคู่มือการปฏิบัติงานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ใช้ดัชนีวัดผลการปฏิบัติงาน (KPI) มีการจัดทำโครงการคุณภาพเป็นเครื่องมือในการวางแผนและควบคุม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ และ กำหนดให้ มีการสอบทานการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบ นโยบาย ข้อกำหนด และคู่มือการปฏิบัติงานต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
    • พิจารณาการทําธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันให้เป็นไปตามข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์ โดยคํานึงถึง ความสมเหตุสมผล ประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท และผ่านการอนุมัติจาก ผู้มีอํานาจอนุมัติซึ่งไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย
  4. ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล
    • คณะกรรมการและฝ่ายบริหารให้ความสำคัญต่อการติดตามการปฏิบัติงานของบริษัท ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจัดให้มีการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงกับเป้าหมาย รวมถึงหาสาเหตุข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น รายงานให้รับทราบเป็นประจำทุกเดือน เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาเป้าหมายและแผนปฏิบัติงานของบริษัท และรวบรวมนำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบไตรมาสละครั้ง
    • ฝ่ายตรวจสอบภายในทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระบบการควบคุมภายในที่วางไว้ของบริษัท อย่างสม่ำเสมอ และรายงานผลการตรวจสอบ โดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อ พิจารณาสั่งการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นและรายงานผลการแก้ไขภายในระยะเวลาอันควร
    • มีการประเมินความเพียงพอและเหมาะสมของระบบการควบคุมภายในเป็นประจำทุกปี โดยใช้แบบประเมินที่จัดทำขึ้นตามแนวทางของ ก.ล.ต. เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ
    • บริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อม (ISO 9001 : 2015 & ISO 14001:2015) และด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHSAS 18001:2007) โดยจะมีการวางแผนและดำเนินการตรวจประเมินระบบมาตรฐานต่างๆ ดังกล่าวที่บริษัทได้รับ เพื่อพัฒนาและรักษาระบบมาตรฐานต่างๆ จะทำให้มั่นใจถึงความเหมาะสม และ การพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบควบคุมภายในเช่นเดียวกัน ที่มีทีมงาน Internal Audit ควบคุมและบริหารโดย QMR ที่แต่งตั้งจากกรรมการผู้จัดการ ทั้งนี้ Auditor ดังกล่าวต้องผ่านการอบรมระบบการตรวจติดตามภายใน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายต่างๆ หากผลการตรวจออกมาพบปัญหาหรือไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด หน่วยงานนั้นจะได้รับการร้องขอให้แก้ไข CAR (Corrective Action Request) และถูกตรวจสอบซ้ำในเรื่องดังกล่าวถี่ขึ้น แล้วนำเข้าที่ประชุม Management Reviewed โดยกรรมการผู้จัดการเป็นประธานที่ประชุม มีการบันทึกและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหน่วยงานภายนอกที่ให้การรับรองระบบ (Interteck) เข้าตรวจติดตามเพื่อยืนยันว่าทุกหน่วยงานที่อยู่ในระบบมาตรฐานการจัดการยังคงปฏิบัติตามระบบที่วางไว้อย่างมีประสิทธิผลจริง

การบริหารจัดการความเสี่ยง ปัจจุบันการดำเนินงานขององค์กรจะต้องเผชิญกับสภาวะความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอกองค์กร ซึ่งก่อให้เกิดเหตุการณ์ทั้งที่เป็นความเสี่ยงและโอกาส (Risk and Opportunities) ต่อองค์กร โดยความเสี่ยงจะส่งผลกระทบในเชิงลบ ในขณะที่โอกาสจะเป็นตัวสร้างมูลค่าต่อองค์กร ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วย บริหารจัดการกับความไม่แน่นอนความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องได้อย่างมี ประสิทธิผล เพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้เสียป้องกัน รักษา และส่งเสริมให้องค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและปรับตัวรับความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการบริษัทฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารความเสี่ยง โดยมีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง การประเมินและวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อบริษัทฯและทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน เพื่อนำไปปฏิบัติใช้และควบคุมความเสี่ยงของทั้งบริษัทฯ รวมทั้งมีการกำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management Framework) โดยพิจารณาแนวทางการจัดการความเสี่ยงขององค์กร ตามกรอบการบริหารความเสี่ยง COSO-ERM 2017 เพื่อนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือ ที่องค์กรยอมรับได้ รวมถึงเป็นสื่อกลางให้บุคลากรทุกระดับของบริษัทฯ เข้าใจถึงความสำคัญของกระบวนการบริหารความเสี่ยงสามารถนำไปปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร อันจะนำไปสู่ความมั่นคงเข้มแข็งขององค์กรต่อไป

ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้มีกระบวนการในการทบทวนความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอโดยบุคลากรทุกระดับมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และกำหนดเป็นโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงและหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก ดังนี้

โครงสร้างการบริหารความเสี่ยง

ระดับ ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่
กำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการบริษัท ( Board Of Director : BOD )
  • พิจารณาอนุมัตินโยบายและสนับสนุนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • พิจารณาอนุมัติรายงานระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ขององค์กร (Risk Appetite}
  • มอบอำนาจการบริหารความเสี่ยงให้กับ คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง
คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management sub-Committee : RMC)
  • สอบทานและนำเสนอนโยบายการบริหารความเสี่ยง และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ให้แก่ BOD เพื่อพิจารณาอนุมัติ
  • กำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยง กำกับดูแลการพัฒนา และการปฏิบัติตามกรอบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร
  • สอบทานรายงานการบริหารความเสี่ยงเพื่อติดตามความเสี่ยงที่สำคัญ และดำเนินการให้มั่นใจได้ว่าองค์กรมีการจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอและเหมาะสม
  • นำเสนอความเสี่ยงในภาพรวมของบริษัท รวมถึงความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน เพื่อการจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่สำคัญให้กับ BOD
  • ให้คำแนะนำในด้านงานบริหารความเสี่ยง และการพิจารณาแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยง
  • มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานประเมินและติดตามความเสี่ยง
  • ดำเนินการประชุม 2 ครั้ง/ปี เพื่อติดตามประสิทธิผลของการบริหารจัดการความเสี่ยง และทบทวนสถานะของความเสี่ยง
การจัดการ (1st Line and 2nd Line Roles)
คณะกรรมการระบบการจัดการมาตรฐานและบริหารความเสี่ยง ( Standard system & Risk Management Committee : SRMC )
  • กำหนดกระบวนการในการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร และกำกับดูแลให้มีการนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร
  • ควบคุม และติดตามการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite)
  • ทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่าง ๆ ในการจัดการความเสี่ยง เมื่อบริบททางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป
  • สื่อสารความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงและสูงมากทั้งหมด ที่อาจมีผลกระทบต่อแผนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัท และแนวทางการจัดการความเสี่ยง ต่อ RMC ทันที
  • ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะแก่ RO เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่สำคัญ และการบรรเทาผลกระทบ
  • ติดตามผลและทบทวนการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า ความเสี่ยงของบริษัทได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
  • ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการและแนวทางการบริหารความเสี่ยงแก่ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานอย่างต่อเนื่อง
หน่วยงานเจ้าของความเสี่ยง ( Risk Owner : RO )
  • ระบุเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ตามกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ได้กำหนดไว้
  • ประเมินโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยง รวมทั้งผลกระทบที่ได้รับ หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
  • พิจารณากำหนดวิธีการจัดการความเสี่ยง และดำเนินการในการตอบสนองต่อความเสี่ยง
  • ายงานให้ SRMC ทราบ
ติดตามตรวจสอบ (3rd Line Roles)
คณะกรรมการตรวจสอบ ( Audit Committee : AC )
  • สอบทานประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management) ตามการตวจสอบกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ
  • สอบทานระบบควบคุมภายใน และประสิทธิผลของการควบคุม
  • ติดตามการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นอิสระ
  • รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงขององค์กร
  • สื่อสารกับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้เข้าใจความเสี่ยงที่สำคัญและเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับการควบคุมภายใน
แผนกตรวจสอบภายใน ( Internal Audit : IA )
  • ตรวจสอบและสอบทานอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติงานเพื่อจัดการความเสี่ยงเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ และมีประสิทธิภาพ
  • ให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • รายงานผลการตรวจสอบและสอบทานต่อ AC